เมารถทำอย่างไรดี? แก้อาการเมารถ ด้วย 10 วิธีง่ายๆ

ใครที่เคย “เมารถ” คงจะรู้ดีว่ามันทรมานแบบกระอักกระอ่วนเพียงใด เพราะมักจะเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ที่ไหน และเมื่อไหร่ก็ได้ จนเริ่มรู้สึกพะอืดพะอม ไม่สบายตัว ไปจนถึงเกิดอาการเวียนหัว คลื่นไส้ แล้วก็อาเจียนออกมา ดังนั้นวันนี้เราจึงอยากจะนำเสนอวิธีการแก้อาการเมารถมาฝากกัน


พยายามนั่งแถวหน้าของรถ และหันหน้าไปทางหน้ารถ

เริ่มด้วยวิธีแรก คือ การนั่งบริเวณส่วนหน้ารถ และหันหน้าไปทางหน้ารถ จะช่วยให้ประสาทส่วนต่าง ๆ ของเราได้รับรู้ถึงจังหวะการเคลื่อนตัว รวมถึงอาการโคลงเคลงของรถได้ จากการทดลองพบว่า วิธีนี้ช่วยให้ผู้ที่ชอบเมารถ มีอาการลดลงได้อย่างดี เพราะประสาทของเรารับรู้ความเคลื่อนไหวของรถ และปรับตัวตามนั่นเอง

ภาพโดย Shutterstock


 หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือ หรือ เล่นโทรศัพท์ในขณะที่กำลังนั่งรถ

การอ่านหนังสือ หรือ เล่นโทรศัพท์ จะทำให้ประสาท และสมาธิของเราจดจ่ออยู่ที่ตรงข้างหน้าเท่านั้น ส่งผลให้เกิดอาการตามมา นั่นก็คือ ร่างกายจะปรับสมดุลตามการเคลื่อนไหวของรถไม่ได้ อาการเมารถจึงเกิดขึ้น ดังนั้นในเวลาเรานั่งรถ เราไม่ควรจ้องอยู่ที่จุดเดียวนาน ๆ พยายามมองวิวทิวทัศน์ภายนอกบ่อย ๆ ก็จะสามารถช่วยลดอาการเมารถลงได้

ภาพโดย Shutterstock


ดื่มน้ำอัดลม

การดื่มน้ำอัดลม จะช่วยขับดันกรดในกระเพาะออกมา สามารถลดอาการเมารถลงได้พอสมควร และผู้ที่มีอาการเมารถ ควรสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ในระหว่างที่เกิดอาการ ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้ความรู้สึกวิงเวียนนั้นลดลงได้ แต่ควรดื่มในปริมาณพอเหมาะ ไม่งั้นเบาหวานถามหาได้นะ

ภาพโดย Shutterstock


ยาดม ยาหม่อง

อีกหนึ่งวิธียอดฮิต นั่นก็คือ การดมยาดม ยาหม่อง หรือ พิมเสน ชอบยี่ห้อไหนดมยี่ห้อนั้น เพราะมันช่วยเราได้จริง ๆ เมื่อเริ่มมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ คล้ายจะอาเจียน ลองหยิบขึ้นมาสูดดม ช่วยบรรเทาอาการได้ดีพอสมควรเลยล่ะ

ภาพโดย Shutterstock


อย่ากินอาหารจนอิ่มเกินไป

นักเดินทางสายกินบนรถพักก่อน หากคุณมีอาการเมารถ โดยการอย่ากินอาหารจนอิ่มเกินไป เพราะถ้าในกระเพาะมีอาหารอยู่มากเกิน อาจมีแนวโน้มที่จะทำให้อาเจียนออกมาได้ง่าย ควรงดอาหารทอด อาหารมัน และอาหารที่มีไขมันสูง (จนทำให้เกิดอาการเลี่ยน) เพราะอาหารพวกนี้ย่อยยาก ค้างอยู่ในกระเพาะนาน เป็นสาเหตุทำให้เกิดการอาเจียนง่าย รวมถึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง อันจะกระตุ้นให้ตัวเองหรือคนข้าง ๆ คลื่นไส้อาเจียน สุดท้ายไม่ควรรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรสเผ็ดจัด เพราะเวลาอาเจียนออกมา ยิ่งถ้าผ่านรูจมูกออกมาด้วยแล้ว จะแสบแบบไม่รู้ลืม

ภาพโดย Shutterstock


รับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว

เพิ่มความจี๊ด ลดอาการเมา ด้วยการรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อาทิ มะม่วง, มะยม, มะขาม, กระท้อน ซึ่งรสเปรี้ยวจากผลไม้ สามารถช่วยลดอาการเมา หรือ วิงเวียนลงได้พอสมควร รวมถึงช่วยเพิ่มความตื่นตัว และลดอาการง่วงนอนได้อีกต่างหาก บอกเลยว่า ตาสว่าง หากหาซื้อผลไม้สดไม่ได้ แนะนำผลไม้อบแห้ง พวกบ๊วย หรือ ลูกอมรสเปรี้ยว ก็พอทดแทนได้เช่นกัน หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปเลย

ภาพโดย Shutterstock


รับประทานยาแก้เมารถ

ถัดมาเป็นวิธีที่คนนิยมใช้มากที่สุด คือ การรับประทานยาแก้เมารถ เช่น ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) ปัจจุบันยาประเภทนี้ มักมีขายตามร้านขายยา หรือ ร้านสะดวกซื้อทั่วไป เหมาะสำหรับคนที่เริ่มมีอาการเมารถเกิดขึ้น ยาตัวนี้ จะช่วยปรับความสมดุลของระบบประสาท ช่วยให้ร่างกายปรับตัวตามการเคลื่อนไหว หรือ การโคลงเคลงของรถ และขณะที่ยาตัวนี้กำลังออกฤทธิ์ จะทำให้ผู้ที่รับประทานเกิดอาการง่วงซึม แนะนำว่าให้หลับไปเลยก็ได้ครับ เพราะการนอนหลับระหว่างการเดินทาง ก็เป็นการแก้อาการเมารถชนิดหนึ่งเช่นกัน

นอกเหนือจากยาแก้เมารถแบบรับประทานแล้ว ยังมีแผ่นแปะแก้เมารถ เพียงแค่แปะบริเวณหลังใบหู แล้วตัวยาสโคโปลามีนบนแผ่นแปะจะซึมผ่านผิวหนังสู่กระแสโลหิต ควรแปะก่อนออกเดินทาง 10 นาที เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ก่อน ทั้งพอแปะแล้วตัวยาจะออกฤทธิ์นานถึง 3 วันเลยล่ะ อันนี้ก็สามารถใช้แทนยาไดเมนไฮดริเนตได้เลย หรือหากไม่สามารถหาซื้อแผ่นแปะแก้เมารถได้ หนำซ้ำยังไม่ชอบกินยาขม ๆ อีก อีกหนึ่งทางเลือกแนะนำนั่นก็คือ ลูกอมแก้เมารถ ซึ่งถูกทำออกมาเพื่อเด็กที่ไม่ชอบการกินยา มีลักษณะเป็นลูกอมหวาน ๆ ข้างในมีตัวยาไดเมนไฮดริเนตผสมอยู่ แต่แทบไม่รู้สึกถึงยาเลย เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบการกินยา แต่จะออกฤทธิ์ช้ากว่าผ่านแปะ ลูกอมจะใช้เวลาออกฤทธิ์ 30 นาที โดยการอมให้ละลายในปาก ห้ามทานเกินวันละ 2 เม็ด และควรทานห่างจากเม็ดแรกอย่างน้อย 4 ชั่วโมง สามารถใช้ได้ทั้งครอบครัว ตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไป

***คำเตือน การใช้ยาแต่ละครั้ง ควรอ่านฉลากยาให้ดีก่อนใช้งาน และสตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้งาน

ภาพโดย Shutterstock


นำอากาศข้างนอกเข้ามาภายในรถ

การนำอากาศข้างนอกเข้าภายในรถ โดยการกดปุ่มระบบหมุนเวียนอากาศภายในรถ  หรือ เปิดกระจกรถ เพื่อให้อากาศภายนอกเข้ามา เป็นการเพิ่มออกซิเจนในตัวรถ ซึ่งช่วยลดอาการวิงเวียนศีรษะ และลดอาการเมารถได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ อีก คือ เปิดประทุนเพื่อรับลม (สำหรับรถเปิดประทุน) และการนั่งหลังกระบะ แต่วิธีนี้ไม่แนะนำเท่าไร เพราะมีความผิดตามกฎหมาย หากรถไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถบรรทุกผู้โดยสาร

ภาพโดย Shutterstock


งดสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ จะทำให้มีกลิ่นควันของบุหรี่ติดตามเสื้อผ้า เส้นผม และผิวหนัง ส่งผลให้ผู้ได้กลิ่นเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ และอาจทำให้อาการเมารถยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม สำหรับใครที่สูบบุหรี่ ควรงดสูบบุหรี่ เมื่อมีคนเมารถโดยสารมาด้วย นอกจากควันบุหรี่จะสร้างปัญหาแล้ว สารต่าง ๆ ที่อยู่ในบุหรี่นั้น ยังมีส่วนทำให้ปวดหัว และมีอาการเมารถหนักยิ่งขึ้นไปอีก ถึงแม้จะมีคำกล่าวว่า สูบบุหรี่ช่วยคลายเครียดได้ แต่ใช้คำนี้กับตอนที่มีอาการเมารถไม่ได้ ทางที่ดีคือ ควรงดสูบไปก่อน จะส่งผลดีทั้งผู้สูบเองและผู้โดยสารท่านอื่นที่นั่งมาด้วย

ภาพโดย Shutterstock


การจอดพัก

สุดท้าย การจอดพัก เป็นวิธีที่ดีรองลงมาจากการรับประทานยาแก้เมารถเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นการลดการเคลื่อนไหว และทำให้คนเมารถไม่ต้องปรับตัวไปกับการเคลื่อนไหวของรถ หากไม่ไหวจริง ๆ ควรหาจุดแวะพัก ทั้งปั๊ม และตามจุดพักรถต่าง ๆ จะนั่งในรถเฉย ๆ หรือ ออกจากรถ เพื่อไปสูดอากาศด้านนอก ลงไปเดินเล่น เข้าห้องน้ำ ก็ได้เช่นกัน เมื่ออาการเมารถดีขึ้น ออกเดินทางต่อได้เลย ถ้าจอดแวะพักแล้วไม่ดีขึ้น ควรรับประทานยาแก้เมารถ แล้วหลับไปเลย หรือ ใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องจอดแวะพักบ่อย อันส่งผลให้ถึงจุดหมายปลายทางช้าลง

ภาพโดย Shutterstock


สำหรับคนที่ลองทำทุกวิธีแล้วยังไม่ได้ผล แนะนำให้นอนลงแล้วหลับตา เพื่อปิดการส่งสัญญาณภาพเข้าสมอง เป็นการลดความสับสนให้สมองได้รับสัญญาณจากอวัยวะคุมการทรงตัว ที่อยู่ที่หูชั้นในเพียงอย่างเดียว อาการจะดีขึ้น ถ้าค่อย ๆ หลับไปเลยได้ยิ่งดี เพราะขณะนอนหลับสมองส่วนคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย จะปิดรับสัญญาณเข้าใด ๆ ความสับสนที่สัญญาณขัดแย้งกันไม่มี อาการเมารถจึงหายไปเอง

Klook.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences Save