ฉลองเทศกาลปีใหม่ 2022 แบบชาวญี่ปุ่น เริ่มต้นปีแบบปัง ๆ ต้องทำอะไรกันบ้าง ไปดูกันเลย !

ไม่ว่าประเทศไหน ๆ  เทศกาลปีใหม่ก็ถือว่าเป็นช่วงวันหยุดยาวเหมือน ๆ กันกับทุกประเทศทั่วโลกเลย Check In Chill  เองก็เลยอยากพาเปลี่ยนบรรยากาศไปประเทศในเอเชียใกล้ ๆ อย่างประเทศญี่ปุ่นกันค่ะว่า “เทศกาลปีใหม่ของญี่ปุ่น” ชาวนิปปอนต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมพร้อมสำหรับวันขึ้นปีใหม่ 2022 ว่ามีอะไรกันบ้าง จะเหมือนหรือต่างกับคนไทยหรือไม่ เราไปดูพร้อม ๆ กันในคอนเทนต์นี้ได้เลย

japan-me

ประเทศญี่ปุ่นในทุก ๆ ปีของเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศจะพร้อมใจร่วมเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่เลยค่ะ เป็นช่วงเวลาอันล้ำค่าที่ให้คนในครอบครัวมาอยู่รวมกันอย่างพร้อมหน้า ทั้งเข้าครัวทำอาหาร คุณแม่ คุณยายแสดงฝีมืออาหารสูตรประจำตระกูลให้ลูกหลานทานอย่างเอร็ดอร่อย, การประดับบ้านเรือนให้เข้ากับเทศกาลและมีประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาให้คนรุ่นหลังได้สืบต่อกันต่อไปเรื่อย ๆ  จึงเป็นช่วงเวลาที่อบอุ่นหัวใจ ล้ำค่าและมีความหมายมากยิ่งขึ้น จริง ๆ แล้ว Check In Chill ว่าวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นในเทศกาลปีใหม่นี้ก็มีความใกล้เคียงกับคนไทยนะคะ ที่ต้องการเริ่มต้นการเดินทางชีวิตในปี พ.ศ.ใหม่ ด้วยการไหว้พระขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อะไรที่ทำแล้วรู้สึกว่าโชคดี ชีวิตเป็นสุขเป็นมงคลเพิ่มพลังแต้มบุญให้ปัง ๆ ตลอดทั้งปี ถ้าสงสัยกันแล้วว่าคนญี่ปุ่นเขามีฮาวทูเสริมดวงเพิ่มพลังบวกอะไรบ้าง ไปดูพร้อมกันเล้ย


เทศกาล ฮัตสึโมเดะ

(วันไหว้พระครั้งแรกของปี)

joelhu.medium

มาที่แรกกันเลย ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเริ่มต้นปีด้วยการตั้งใจเดินทางไปศาลเจ้าเพื่อขอพรให้เริ่มต้นปีแบบเฮง ๆ ปัง ๆ ซึ่งหนึ่งในสถานที่ที่คนญี่ปุ่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชอบไปกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันก็คือศาลเจ้านิกายชินโตในวันต้นปีและนอกจากนี้บางคนก็จะเดินทางไปกราบไหว้พระขอพรที่วัดแบบคนไทยด้วย การไปไหว้ขอพรในช่วงเริ่มต้นปีใหม่นี้ภาษาญี่ปุ่นจะเรียกกันว่า “เทศกาลฮัตสึโมเดะ” (初詣) ผู้คนจะเริ่มไปขอพรกันในช่วงคืนก่อนวันขึ้นปีใหม่ (วันสุดท้ายของปี 31 ธันวามคม) ซึ่งเป็นเทศกาลระดับชาติที่ได้รับความนิยมกันอย่างล้นหลาม จากสถิติปีที่ผ่าน ๆ มา มีชาวญี่ปุ่นมาร่วมเทศกาลนี้มากกว่าหนึ่งล้านคนเลยทีเดียว


ชมแสงอาทิตย์แรกของปี

get.pxhere

อีกหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นเขาว่ากันว่า เป็นการเพิ่มพลังบวกให้กับตัวเองตั้งแต่ต้นปี ตามบทกวีไฮกุ (บทกวีพื้นบ้านญี่ปุ่น) นักกวีญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงจำนวนมากได้เขียนถึงการตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อมารับแสงแรกของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการไปเฝ้ารอดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ชายทะเล ซึ่งการรับชมพระอาทิตย์ขึ้นในวันขึ้นปีใหม่นี้จะเสริมสิริมงคลให้ชีวิตเราให้ได้เข้าใกล้ความสำเร็จ ที่สิ่งเราปรารถนาไว้เร็วยิ่งขึ้นนั่นเอง หากเพื่อน ๆ บ้านใครอยู่ใกล้ทะเล อย่าลืมไปยืนรับแสงอาทิตย์แรกของปีที่ชายทะเลบ้างนะคะ โชคดีโป้งป้างถูกลอตเตอรี่ 90 ล้านก็เป็นได้^^


ธนูฮามายะ

(เครื่องรางปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย)

grittymonkey

เครื่องรางรูปลูกศรที่ทำจากไม้และกระดาษสีต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยขับไล่โชคร้ายออกไป ซึ่งแต่ละศาลเจ้ามีไว้จำหน่ายในช่วงวันขึ้นปีใหม่ในจำนวนจำกัดเท่านั้น ชาวญี่ปุ่นนอกจากตั้งใจมาไหว้เทพเจ้าแล้วยังต้องหาซื้อเครื่องรางสุดพิเศษที่มีขายที่ศาลเจ้าอย่างจำนวนจำกัด  “ธนูฮามายะ” ที่ผู้คนชอบซื้อกลับมาไว้สำหรับตั้งประดับภายในบ้าน เพื่อช่วยขับไล่สิ่งอัปมงคลออกไปกับปีเก่า และช่วยดึงดูดช่วยเรียกสิ่งดี ๆ เข้ามาในปีใหม่นี้ทั้งแก่ตัวเองและครอบครัว รับรองว่าสิ่งดี ๆ สิ่งที่หวังไว้ จะสมหวังโชคดีตลอดทั้งปีใหม่เลย


กองไฟยามค่ำคืน

joelhu.medium

หลาย ๆ วัดและศาลเจ้าทั่วประเทศญี่ปุ่น จะมีการเตรียมกองไฟทั้งเล็กและใหญ่หลาย ๆ จุดไว้รอบวัดเลยค่ะ เพราะช่วงต้นปีแบบนี้สภาพอากาศที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีอุณหภูมิลดต่ำลงมาก บางพื้นที่ของประเทศอาจจะสภาพอากาศติดลบ หิมะตกด้วยนะคะและเป็นช่วงเดียวกับคนมาร่วม “เทศกาลฮัตสึโมเดะ” เป็นจำนวนมาก ทางวัดและศาลเจ้าสถานที่จัดงานก็เลยเตรียมกองไฟไว้เพิ่มความอบอุ่นให้คนที่มารอคิวไหว้พระขอพรกัน เพื่อน ๆ ก็เลยจะได้เห็นภาพผู้คนยืนผิงไฟเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์ของช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ที่หาชมได้ที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น อบอุ่นทั้งกายอบอุ่นทั้งใจ


โอเซจิเรียวริ

(สำรับอาหารสำหรับเทศกาลปีใหม่ที่ญี่ปุ่น)

sakurasaku.saku_

เลือกทานอาหารดี ชีวิตเราก็ดีค่ะ เรื่องอาหารการกินแล้วชาวญี่ปุ่นก็มีธรรมเนียมการเริ่มต้นปีด้วย สำรับอาหารหรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โอเซจิเรียวริ” (おせち料理) เป็นเซทอาหารที่มีอย่างน้อย 50 เมนูกันเลยทีเดียว ซึ่งเมนูอาหารแต่ละอย่างนั้น มีความหมายสื่อออกมาได้อย่างลึกซึ้งไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ, ชีวิตที่ยืนยาว,ความสุข และความสำเร็จ ปัจจุบันที่ประเทศญี่ปุ่นการทำ “โอเซจิเรียวริ” นั้นมีทั้งลงมือทำกันเองในครอบครัวและซื้อตามร้านอาหารได้เหมือนกันค่ะ เพราะการทำสำรับอาหารค่อนข้างเป็นงานที่ท้าทายเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน กว่าจะเตรียมส่วนประกอบ เครื่องปรุง กว่า 30 อย่าง ก็ใช้ไว้ลาเกือบครึ่งวันแล้วค่ะ เดี๋ยวนี้ชาวญี่ปุ่นเลยนิยมซื้อแบบสำเร็จรูปแล้วมากกว่า หากใครไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้อย่าลืมเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตไปหาซื้อทานกันนะคะ


ระฆังคืนสิ้นปี

pinimg

ในคืนสิ้นปีมีอีกหนึ่งความเชื่อที่ผู้คนปฏิบัติต่อ ๆ กันมาแบบยาวนานมาก ๆ คือการไปการตีระฆังจำนวน 108 ครั้งในช่วงเวลาเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ Check In Chill ไปสืบมาว่าส่วนมากชาวญี่ปุ่นจะไปศาลเจ้าในช่วงเวลาประมาณ 23.00 นาฬิกากันค่ะ ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วการตีระฆังนั้นหมายถึงการปัดเป่ากิเลสออกไปจากจิตใจของมนุษย์ ไม่ให้ลุ่มหลงไปกับความสุขทางโลก ชาวญี่ปุ่นนิยมใช้ช่วงเวลาเข้าสู่คืนข้ามปีด้วยการฟังเสียงระฆังยามค่ำคืน ให้ก้องลึกเข้าไปสู่จิตใจให้มีสติ เพื่อต้อนรับปีใหม่ที่ดีเข้าสู่ชิวิตเราค่ะ ทริคในการตีระฆังคืนสิ้นปีคือให้ตีระฆัง 107 ครั้งเก็บไว้ก่อน แล้วพอเวลาเข้าปีใหม่แล้วให้ตีอีก 1 ครั้ง รวมเป็น 108 ครั้ง อันเป็นการเสร็จพิธีค่ะ กิเลสหมดไปกับปีเก่าแล้ว เริ่มต้นปีให้สดใสยิ่งกว่าเดิมกันนะคะ


ขอพรด้วยแผ่นเอมะ

oshieteotera

อีกหนึ่งวิธีในขอพรที่เราเห็นได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่นเลยค่ะ ไม่ว่าศาลเจ้าหรือวัดไหน เราก็จะเห็นแขวนไว้ตามทางเข้าศาลเจ้ากันเยอะมาก ที่คนไทยเรียกติดปากกันมากเลยว่า “แผ่นไม้ขอพร” แต่ว่าจริง ๆ แล้วเจ้าแผ่นไม้รูปแบบต่าง ๆ นี้มีชื่อเรียกภาษาญี่ปุ่นว่า “แผ่นเอมะ” (絵馬) นั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะขอพรเรื่องครอบครัว, ตัวเอง,เรื่องเรียน,หน้าที่การงาน หรือ อยากสมหวังเรื่องอะไร เขียนคำอธิฐานลงแผ่นไม้แล้วขอพรในใจจากนั้นค่อยแขวนแผ่นเอมะไว้ Check In Chill เชื่อว่าเมื่อช่วงเวลาที่เหมาะสม สิ่งสักสิทธิ์จะอวยพรให้เราประสบแต่ความโชคดีสมหวังในทุก ๆ เรื่องที่ขอแน่นอน 


บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ฉลองส่งท้ายปี

benesse

เป็นอีกหนึ่งอีเว้นท์ที่แต่ละบ้านจะร่วมมือร่วมใจปัดฝุ่นครั้งยิ่งใหญ่หรือเรียกได้ว่า “ทำความสะอาดบ้านประจำปี” เลยก็ว่าได้ค่ะ ซึ่งภาษาญี่ปุ่นมีชื่อเรียกว่า “เน็นมัสสุ โนะ โอโซะจิ” (年末の大掃除) ขอเล่าท้าวความเดิมให้เพื่อน ๆ ฟังนิดนึงค่ะว่า การบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ช่วงก่อนขึ้นปีใหม่นี้เริ่มตั้งแต่ “ยุคเอโดะ” แล้วค่ะ สมัยนั้นเจ้าเมืองได้กำหนดไว้ว่าทุกวันที่ 13 ธันวาคมให้คนงานช่วยกันทำความสะอาดปราสาทเอโดะ เพื่อเป็นการชำระล้างปราสาทและบริเวณรอบ ๆ เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายแล้วจะดึงดูดสิ่งดี ๆ และเป็นการต้อนรับเทพเจ้าในช่วงเวลาปีพ.ศ.ใหม่ที่กำลังจะมาถึงค่ะ ชาวบ้านระแวกนั้นเห็นจึงทำความสะอาดบ้านเรือนตามกันมากเรื่อย ๆ หากบ้านเรือนสะอาดจะดึงดูดสิ่งดี ๆ โชคลาภเข้ามาอย่างแน่นอนค่ะ


ต้นไผ่นำโชค “คาโดมัตสึ”

satoyama.imokushi

เพื่อน ๆ น่าจะเคยเห็นกองต้นไผ่สามต้นตั้งขึ้นที่โดนฝานออกเฉียง ๆ ล้อมรอบด้วยใบสนสีเขียวสดหรือดอกไม้ประจำถิ่นแล้วประดับตกแต่งไว้ตามหน้าร้านค้าหรือบ้านเรือน เจ้าต้นไผ่ที่ตั้งอยู่คู่กันตรงทางเข้านั้นชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “คาโดมัตสึ” (門松) เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งที่เพื่อน ๆ จะเห็นได้ทั่วไปทั้งประเทศญี่ปุ่นเลย เพราะมีความเชื่อกันว่า “คาโดมัตสึ” เป็นต้นไม้มงคลนำพาซึ่งความโชคดี หากบ้านไหนประดับต้นไผ่นำโชคไว้ตรงข้างหน้าประตูบ้านนั้นหมายถึงว่า เป็นการเรียนเชิญท่านเทพเจ้าเข้ามาให้พรให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขค่ะ เราสามารถเห็นคาโดมัตสึได้ในช่วงเวลาประมาณหลังช่วงเทศกาลคริสมาสต์จนไปถึงวันที่ 7 มกราคมปีถัดไปเลย


จบไปกันที่เรียบร้อยแล้วนะคะสำหรับ “ฮาวทูต้อนรับปีใหม่ 2022 แบบชาวนิปปอน” ถ้าใครไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงเวลาแบบนี้น่าจะมีแอคทิวิตี้ให้ไปลองทำเยอะมากเลยค่ะ มองไปทางไหนก็จะเห็นผู้คนใส่เสื้อผ้าสดใสสี ๆ  พร้อมเปิดรับพลังบวกให้พุ่งชนแบบตรง ๆ เลย ในพาร์ทนี้ Check In Chill คงต้องลากันไปก่อนเพียงเท่านี้นะคะ สำหรับคอนเทนต์หน้าเราจะพาไปไหนต่อในประเทศญี่ปุ่น จะเป็นที่พัก ที่กิน หรือที่เที่ยวสามารถอัปเดตกันได้ที่เว็บไซต์ www.checkinchill.com และทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก ที่กิน ที่เที่ยว ที่พัก ทุกที่ทั่วโลก – เช็คอินชิลล์ กันได้นะคะ เจอกันค่ะ😚

Klook.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences Save